ใครกำลังจะสัมภาษณ์งานบทความนี้เป็นประโยชน์แน่นอนค่ะ เรารวบรวมคำถามยอดนิยมที่ผู้สมัครมักจะโดนถามระหว่างการสัมภาษณ์งาน มาดูว่ามีอะไรกันบ้างนะคะ
รบกวนแนะนำตัวเองด้วยค่ะ/ครับ
เป็นคำถามที่ฟังดูน่าจะตอบง่าย แต่สำคัญมาก เพราะเป็นคำถามที่บ่งบอกตัวตนของผู้สมัครได้ในระดับหนึ่ง ตั้งแต่วิธีการเรียบเรียงคำอธิบาย ตรรกะที่ใช้ในการลำดับประสบการณ์ทำงานที่เคยทำในแต่ละที่ เหตุผลในการเลือกงาน และเหตุผลที่ลาออกในแต่ละที่ รวมถึงการอธิบายหรือ”ขาย“ตัวผู้สมัครเองว่าคุณสมบัติ ประสบการณ์ที่กล่าวมาทั้งหมดนั้น จะเป็นประโยชน์ต่องานที่กำลังสมัครอยู่อย่างไร
คุณรู้อะไรเกี่ยวกับบริษัทของเราบ้าง?
ก่อนสัมภาษณ์งาน ควรศึกษาข้อมูลของบริษัทที่จะไปสัมภาษณ์ให้ดีเสียก่อน ง่ายที่สุดคือลองอ่านข้อมูลจากในเว็บไซต์ของบริษัท สิ่งที่ต้องรู้อย่างน้อยก่อนไปสัมภาษณ์คือ บริษัทนั้นทำธุรกิจอะไร? เปิดกิจการมานานแล้วหรือยัง? คู่แข่งคือใคร? ผลประกอบการเป็นอย่างไร? และลองประเมินจุดแข็ง-จุดอ่อน ของบริษัทตามความเข้าใจของเรา ข้อมูลอื่นๆเช่นพันธกิจหรือ ปรัชญาบริษัทก็ควรอ่านไว้ อย่างน้อยเราจะพอได้ไอเดียว่าวัฒนธรรมขององค์กรนั้นเข้ากับเราได้หรือไม่ด้วย หากเรารู้จักใครที่เคยหรือกำลังทำงานอยู่บริษัทนั้น หรือ หากบริษัทจัดหางานได้แนะนำตำแหน่งที่กำลังจะไปสัมภาษณ์ เราก็ควรสอบถามข้อมูลเกี่ยวกับบริษัทนั้นดู เราอาจจะได้ข้อมูลที่ไม่มีบอกในอินเตอร์เน็ต ซึ่งนั่นก็จะเป็นประโยชน์กับเราเอง
ทำไมถึงอยากได้งานนี้?
โดยส่วนมากแล้วบริษัทต้องการคนที่มี ‘passion’ และ คนที่อยากร่วมงานกับบริษัทของเขาจริงๆ หากคุณมีความตั้งใจจริงที่จะร่วมงานกับบริษัท อย่าลังเลที่จะแสดงความปรารถนาอันแรงกล้านั้นพร้อมเหตุผลว่าทำไมถึงอยากร่วมงานกับบริษัทนั้นระหว่างการสัมภาษณ์
จุดแข็งของคุณคืออะไร?
ตอนตอบคำถามนี้ แนะนำให้เลือกตอบในจุดที่เราเห็นว่าเป็นข้อดี/จุดแข็งของเราจริงๆ และควรเชื่อมโยงให้ได้ว่าจุดแข็งของเรานี้เป็นประโยชน์ต่อการทำงานอย่างไร แต่อย่าเลือกตอบในสิ่งที่เราคิดว่าผู้สัมภาษณ์อยากได้ยินแล้วเราทำไม่ได้ หรือไม่ใช่ตัวเรา เพราะจะไม่เป็นประโยชน์กับฝ่ายใดเลยหากต่อมาทางบริษัททราบว่าเราพูดเกินความจริง
จุดอ่อน/ ข้อด้อยของคุณคืออะไร?
ผู้สมัครส่วนมากมักจะเลือกตอบคำถามข้อนี้แบบกำกวม คือ เลือกตอบในจุดที่อาจจะเป็นได้ทั้งข้อดีและข้อเสีย เพื่อหลีกเลี่ยงการถูกมองในแง่ลบ เช่น ดิฉันเป็นคนที่เจ้าระเบียบเกินไป หรือ ผมเป็นเพอร์เฟคชั่นนิสต์ เป็นต้น ซึ่งฝ่ายบุคคลที่ทำหน้าที่สัมภาษณ์งานจะได้ยินคำตอบในลักษณะนี้จนชินชา ซึ่งก็ไม่ได้ผิดอะไร แต่หากคุณต้องการสร้างความแตกต่างจากผู้สมัครคนอื่น อาจจะลองพูดข้อเสียจริงๆ (แต่ไม่ร้ายแรง)ของตนเองมา พร้อมทั้งอธิบายด้วยว่าขณะนี้เรากำลังพยายามทีละนิดที่จะแก้ หรือปรับเปลี่ยนนิสัยนี้อยู่ เช่น “ดิฉันเป็นคนไม่กล้าพูดต่อหน้าคนเยอะๆค่ะ แต่ว่าดิฉันกำลังพยายามแก้ไขข้อเสียอันนี้โดยการทำกิจกรรมที่ได้เจอผู้คนเยอะๆ และได้พูดต่อหน้าผู้คนบ้าง เริ่มจากกลุ่มเล็กๆจะได้เกร็งน้อยหน่อยค่ะ” ฯลฯ เป็นต้น
มองตัวเองในอีกห้าปี (เจ็ดปี, สิบปี...) ข้างหน้าไว้อย่างไร?
เป็นคำถามที่ต้องการดูว่าผู้สมัครมีความทะเยอทะยาน มีการวางแผนให้กับตัวเองไหม นอกจากนี้ผู้สัมภาษณ์ต้องการทราบว่าตำแหน่งงานที่ผู้สมัครสมัครนั้นตอบโจทย์กับเป้าหมายในอนาคตของตัวผู้สมัครเองด้วยหรือเปล่า? ทั้งนี้บริษัทญี่ปุ่นโดยส่วนมากมักคาดหวังว่าเมื่อรับผู้สมัครเข้ามาทำงานแล้ว ผู้สมัครท่านนั้นจะทำงานและอยู่กับบริษัทไปนานๆ
ไปสัมภาษณ์งานกับบริษัทไหนมาบ้าง?
ผู้สัมภาษณ์ต้องการทราบว่าผู้สมัครจริงจังกับการหางานมากแค่ไหน และบริษัทอื่นๆที่สมัครอยู่ๆในอุตสาหกรรมเดียวกันหรือไม่ รวมทั้งตำแหน่งอื่นๆเหล่านั้นเป็นตำแหน่งงานลักษณะเดียวกับที่กำลังสัมภาษณ์อยู่หรือเปล่า คำถามนี้ยังทำให้บริษัทที่กำลังสัมภาษณ์เราอยู่ประเมินด้วยว่าควรจะต้องเร่งรัดขั้นตอนการตัดสินใจการว่าจ้างด้วยหรือไม่
ทำไมถึงอยากออกจากงานปัจจุบัน? หรือ ทำไมถึงออกจากงาน?
ควรตอบคำถามข้อนี้บนพื้นฐานของความเป็นจริง แต่ควรหลีกเลี่ยงการพูดถึงสิ่งต่างๆในแง่ลบมากเกินไป อย่าลืมว่าบริษัทต่างๆสามารถทำการเช็คประวัติเราโดยติดต่อกับบริษํทที่เราเคยทำงานในอดีตได้ด้วย
เงินเดือนที่คาดหวังคือ?
ลองทำการค้นหาข้อมูล range เงินเดือนโดยฉลี่ยของตำแหน่งที่เรากำลังสมัคร แล้วเปรียบเทียบกับช่วงเงินเดือนที่บริษัทที่เรากำลังสมัครระบุไว้ใน job description เราจะพอทราบได้คร่าวๆว่าบริษัทที่เรากำลังสมัครอยู่สามารถจ่ายให้เราได้ตามที่เราคาดหวังไว้หรือไม่ เวลาสัมภาษณ์เมื่อเจอคำถามนี้ให้บอกตัวเลขไปตามที่เราเคยระบุไว้ในใบสมัคร
เวลาว่างปกติทำอะไร?
คำถามนี้ทำให้บริษัทสามารถทราบได้ว่า lifestyle ของผู้สมัครเข้ากันได้กับวัฒนธรรมขององค์กรหรือไม่ และยังเป็นการสื่อให้เห็นถึงอุปนิสัย (คร่าวๆ)ของผู้สมัครได้ด้วย
มีคำถามอะไรอยากจะถามหรือเปล่า?
ควรใช้จังหวะนี้ถามคำถามที่เราอยากรู้เกี่ยวกับบริษัทและตำแหน่งที่เรากำลังสมัครอยู่อย่างตรงไปตรงมา ตัวผู้สมัครเองจะได้รู้ด้วยว่าตัวเองเหมาะกับงานนี้ บริษัทนี้หรือไม่ ไม่ควรจบการสัมภาษณ์แบบไม่มีคำถามเลย เพราะมันอาจแสดงให้บริษัทเห็นว่าเราไม่ได้สนใจในตำแหน่งที่กำลังสมัครอยู่เท่าใดนัก
โดย นกสาลิกา